ดังนั้นวันนี้เรามารู้จักคะน้าที่สามารถให้คุณค่าสารอาหารสูงต่อร่างกายของเราหลายชนิดเลยทีเดียว ทั้งยังสามารถต้านมะเร็งให้กับผู้รับประทานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ตลอดจนเรามาศึกษาวิธีปลูกคะน้าไว้รับประทานในครัวเรือนเองแบบง่ายๆ ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอีกทางหนึ่ง และเพื่อหลีกเลี่ยงและมั่นใจในการปลอดสารพิษ ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งให้กับร่างกายของเราได้อีกด้วย
ใบเขียวของคะน้า มองแว๊บเดียวก็รู้ว่าเป็นแหล่งรวมแร่ธาตุวิตามินและสารอาหารอย่างมากมายในปริมาณที่สูงอีกด้วยที่พบมากมายมหาศาลก็คือเบต้า-แคโรทีนทีมาแรงในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารเสริมเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน
เบต้า-แคโรทีนคือหนึ่งในสารประมาณ 500 ชนิดที่ร่วมอยู่ในกลุ่ม "แคโรทีนอย " ซึ่งเมื่อถ่ายโอนจากผักเข้าสู่ร่างกายของคนจะกลายเป็นฐานในการแปรรูปสู่วิตามินเอ ซึ่งมีการค้นพบมานานแล้วว่าเป็นวิตามินที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง โดยในเลือดของผู้ป่วยโรคนี้ได้รับการวิเคราะห์พบว่ามีวิตามินเอ
อยู่ในปริมาณต่ำ ขณะเดียวกันการรับประทานวิตามินเอให้เพียงพอยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร ลำไส้ ลำคอ ปอดและกระเพาะปัสสาวะได้
ในปี 2524 ได้มีการค้นพบข้อเท็จจริงชัดเจนขึ้นอีกว่าสารที่ไปยับยั้งมะเร็งนั้นไม่ใช่ตัววิตามินเอโดยตรงแต่ได้แก่สาร เบต้า-แคโรทีนต่างหาก ในแต่ละวันคนเราได้รับวิตามินเอทั้งจากอาหารประเภทเนื้อสัตว์พืชผักและผลไม้โดยวิตามินเอจากสัตว์นั้น ใช้ประโยชน์ได้เลยตรงๆเมื่อรับประทานร่วมกับไขมัน
แต่สำหรับพืชที่มีโครงสร้างต่างไปจากสัตว์และคน วิตามินเอจะอยู่ในรูปของแคโรทีนอยซึ่งร่างกายของคนต้องมาแปรรูปให้เป็นวิตามินเอต่อไปด้วยกระบวนการทำงานประสานกันของระบบอวัยวะและแร่ธาตุ สารอาหารต่างๆ
คะน้าและพืชร่วมตระกูลกะหล่ำเป็นแหล่งเบต้า-แคโรทีนอันเยี่ยมยอด จะเอาไปล้างหรือปรุงด้วยความร้อนในรูปใดก็ยังคงคุณค่ามหาศาลนี้เอาไว้ได้แต่ถ้าหากรับประทานสดๆได้จะวิเศษมาก เพราะวิตามินที่มีในคะน้าอีกหลายอย่างต้องการการประคบประหงมเช่น วิตามินซี
ยอดคะน้าสด อุดมไปด้วยวิตามินซีและเกลือแร่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินซีซึ่งช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อให้ชุ่มชื้นและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโรค ให้แข็งแรงสมบูรณ์น้องๆเบต้า-แคโรทีน แต่วิตามินซีสลายไปได้ง่ายในด้วยน้ำและอากาศดังนั้นจะรับประทานคะน้าเมื่อใหร่ต้องชลอการหั่นไว้เป็นลำดับสุดท้าย
เมื่อตามองเห็นคะน้าเราก็คิดถึงความกรอบ รสชาติน่ารับประทาน จึงมีผู้นิยมปลูกคะน้าเป็นพืชเศรษฐกิจ ปลูกเป็นทะเลคะน้า ปลูกคะน้าอย่างเดียวแมลงจึงโจมตีคะน้าได้ง่าย เกษตรกรจึงจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงกันขนานใหญ่ ดังนั้นการรับประทานคะน้าที่ซื้อมาจากตลาดต้องล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อให้แน่ใจได้ว่าคะน้านั้นปลอดสารพิษหรือยาฆ่าแมลงแล้ว ทางออกอีกทางหนึ่งก็คือเลือกซื้อผักปลอดสารพิษ อุดหนุนผู้ที่ปลูกผักปลอดสารพิษ เมื่อความต้องการผักปลอดสารพิษมีมากขึ้นเกษตรกรจะปรับแนวการปลูกผักคะน้าให้ปลอดสารพิษมากยิ่งขึ้น
สำหรับการล้างผัก ที่ใบคะน้ามีไขสีเทาเคลือบเอาไว้ ไขขาวๆนี้ไม่ใช่ยาฆ่าแมลงแต่เป็นสารธรรมชาติไม่มีพิษภัย แต่จะซึมซับยาฆ่าแมลงเอาไว้ได้ดี ดังนั้นการล้างคะน้าจึงควรล้างไขขาวๆนี้ออกให้สะอาดด้วย หรือหากใส่เกลือ ผงฟูสักช้อน เหยาะน้ำส้มสายชูสักหน่อยวิธีใดวิธีหนึ่งช่วยกำจัดยาฆ่าแมลงออกได้ดี การเลือกซื้อคะน้าที่มีรอยแมลงกัดกินที่ขอบใบบ้างก็มิได้หมายความว่าจะได้คะน้าที่ปราศจากสารพิษหรือยาฆ่าแมลงแต่อย่างใด เพราะถ้าหากว่าเกษตรกรผู้ปลูกคะน้าใช้ยาฆ่าแมลงไม่ถูกวิธี ไม่ถูกขนาดหรือไม่ถูกเวลาก็ไม่สามารถป้องกันกำจัดแมลงได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ที่ซื้อคะน้าที่มีรอยแมลงกัดกินไปปรุงอาหารรับประทานจึงต้องได้รับสารพิษหรือยาฆ่าแมลงเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว
คะน้าไม่ว่าใบกลมหรือใบแหลมล้วนอร่อยทั้งใบแลก้านและจะหวานกรอบเป็นพิเศษ ถ้าแช่น้ำแข็งเสิร์ฟสดๆพร้อมเมี่ยงปลาทูสูตรนี้ก็เข้าท่าแถมไม่อ้วนด้วย โดยแกะเนื้อปลาทูที่ย่างให้หอมเป็นชิ้นเล็กๆเคล้ากับเครื่องเมี่ยงหั่นเป็นลูกเต๋าขนาดจิ๋วอันได้แก่ขิงสด หอมแดง มะนาว ตะไคร้ซอย แล้วเตรียมน้ำจิ้ม โดยเคี่ยวน้ำตาลปี๊บ กะปิละลายน้ำ จนเป็นยางมะตูมเติมข่าทุบชิมให้รสหวานนำ เข้ากันดีกับใบคะน้าสดกรอบเย็นเจี๊ยบ
คะน้าเป็นผักสร้างกระดูกเหมือนใบยอ แต่คะน้าชนะใบยอตรงที่หาได้ง่ายกว่า รับประทานได้บ่อยกว่า ใบคะน้ามีแคลเซี่ยมสูง งานวิจัยของ ROBERT P.H.(1990) ศึกษาการดูดซึมแคลเซี่ยมของร่างกายพบว่า ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซี่ยมจากคะน้าได้ไม่น้อยกว่าแคลเซี่ยมจากนม
คราวนี้เรามาลองปลูกคะน้าปลอดสารพิษใว้รับประทานในครัวเรือนกันดีกว่าซึ่งมีวิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. แช่เมล็ดคะน้าในน้ำสะอาด (ช้อนเอาเมล็ดที่ลอยน้ำออกทิ้ง) ปล่อยทิ้งไว้ 1 คืน
2. โรยเมล็ดคะน้าที่แช่แล้วลงในแปลงที่เตรียมไว้ ให้มีระยะห่างของเมล็ดคะน้าประมาณ 1 นิ้ว (แปลงเพาะเมล็ดต้องย่อยดินให้ละเอียดและคลูกเคล้าปุ๋ยหมักให้เข้ากันทั่วทั้งแปลง)
3. กลบด้วยทรายหรือดินที่ทุบละเอียดแล้วหนา ประมาณ 1 เซนติเมตรให้ทั่วแปลง
4. คลุมด้วยฟางใหม่ที่ไม่มีเชื้อราปนเปื้อน โดยกระจายฟางให้สม่ำเสมออย่าให้หนามากนัก
5. รดน้ำเช้า-เย็นทุกวัน
6. ย้ายกล้าเข้าแปลงปลูก กระถาง หรือภาชนะใดๆก็ได้เมื่อคะน้ามีใบจริง 5-10ใบ หรือสูงราว 10 เซนติเมตร โดยให้มีระยะห่างระหว่างต้น 30 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มเช้า-เย็นทุกวัน
7. ใช้ปุ๋ยยูเรีย 1 ช้อนผสมน้ำ 1 บัว รดให้ทั่วแปลงทุกๆ 10-15 วันต่อครั้ง
8. เมื่อคะน้ามีอายุได้ราว 45 วันสามารถตัดยอดมารับประทานได้ โดยตัดยอดให้เหลือโคนไว้ให้แตกยอดใหม่ไว้รับประทานในคราวต่อไปได้
การดูแลป้องกันกำจัดแมลง
การป้องกันกำจัดแมลงในการปลูกคะน้าปลอดสารพิษนี้ เป็นวิธีที่ง่ายมาก ประหยัด ปลอดภัยด้วยคือ การสังเกตด้วยตาของเราเองทุกๆวันเราจะต้องสละเวลาเพียงเล็กน้อยเพื่อมาตรวจดูแมลงในแปลงปลูกคะน้าของเรา เมื่อเห็นแมลงกำลังกัดกินใบคะน้าก็ควรเก็บแมลงออกจากใบแล้วทำลายให้แน่ใจว่าแมลงนั้นตายจริงๆ กระทำอย่างนี้ เอาใจใส่อย่างนี้ ดูแลคะน้าของเราด้วยความตั้งใจอย่างนี้รับรองว่าต้องมีคะน้าที่ปลอดสารพิษไว้รับประทานในครัวเรือนได้ตลอดทั้งปีเลยเชียว
สารอาหารในคะน้า
** กองโภชนาการกรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุข. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย,2535
* วิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น